กรุณารอสักครู่

TH EN
 

สสว. ร่วมกับกองทัพอากาศ นำร่องเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจรับช่วงการผลิต เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

15 มิถุนายน 2563 1,459

สสว. ร่วมกับกองทัพอากาศ นำร่องกรุยทางผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการรับช่วงการผลิต เข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ หวังให้เป็นช่องทางช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ ให้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด 19 โดยเดินหน้าความร่วมมือกำหนดแผนการสั่งซื้อล่วงหน้าสำหรับสินค้าในกลุ่มธุรกิจด้านการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับอากาศยาน 

ผศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยแนวทางหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคือ การมุ่งสร้างโอกาสในตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท 

ที่ผ่านมา สสว. ได้ร่วมกับ กองทัพอากาศ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการในกลุ่มการบินและโลจิสติกส์ ธุรกิจป้องกันประเทศ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มดิจิทัล ซอฟแวร์ และ สมาร์ท อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยมาตรการกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสรับทราบถึงความต้องการของผู้ซื้อ คือกองทัพอากาศ และบริษัท อุตสาหกรรมการบินล่วงหน้า อันเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม สามารถวางแผนการผลิตสินค้าหรือร่วมผลิตชิ้นส่วนให้กับการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ตรงความต้องการของผู้ซื้อ โดยล่าสุดได้นำผู้ประกอบการเข้าศึกษาดูงานศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานตาคลี จ. นครสวรรค์ เพื่อนำร่องในการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการต่อไป 

“ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้เกียรติร่วมเยี่ยมชมกิจการของ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด พร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาดูงานการซ่อมบำรุงอากาศยานของกองทัพ เช่น อากาศยานแบบ BT-67, F-16A/B, CT-4A/B และ C-130H รวมทั้งการดำเนินงานของกลุ่มพัสดุ อุปกรณ์ภาคพื้นที่ใช้สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน กลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์ ตู้เก็บเครื่องมือสำหรับการซ่อมบำรุงอากาศยาน และกลุ่มพัสดุอะไหล่ ชิ้นส่วนที่ใช้ในการซ่อมบำรุงอากาศยาน”

ผอ.สสว. กล่าวอีกว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้ จะเป็นเป็นการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ ได้นำเสนอศักยภาพของตนเอง พร้อมทั้งรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลิตภัณฑ์ บริการตามความต้องการของกองทัพอากาศ และอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงเกิดการเรียนรู้จากการสังเกตการณ์จากการปฏิบัติจริง อันนำไปสู่โอกาสในการพัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์/บริการที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานของหน่วยงานภาครัฐได้ต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา นโยบายของผู้บัญชาการกองทัพอากาศ คือ ต้องการเชื่อมโยงธุรกิจโดยกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท อุตสาหกรรมการบินฯ โดยบริษัท อุตสาหกรรมการบินฯ มีแผนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ตั้งแต่การเตรียมตัวให้ได้การรับรองมาตรฐาน และในขั้นต่อไป สสว. จะร่วมกับบริษัท อุตสาหกรรมการบินฯ ในการจัดทำแผนแม่บทความร่วมมือด้านโจทย์การผลิตสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานต่อไป

ผศ.ดร.วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สสว. ได้เตรียมนำเสนอแนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่ 1.กำหนดโควต้าการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในท้องถิ่นและกลุ่ม Micro 2.การให้แต้มต่อด้านราคา 3.กำหนดประเภทสินค้าที่จะส่งเสริม 4.กำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง และ 5.กำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า 

“การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท หากเอสเอ็มอีเข้าสู่งานภาครัฐได้ 10 เปอร์เซ็นต์ จะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.3 แสนล้านบาท ส่วนการกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้าง เอสเอ็มอี รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศ เห็นควรกำหนดเพดานวงเงินไม่เกิน 5.7 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลงของ WTO” ผอ.สสว. กล่าวในที่สุด