กรุณารอสักครู่

TH EN
 

โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start up ) ปี 2560

28 พฤศจิกายน 2560 14,436

หลักการและเหตุผล

ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน SMEs ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจให้เกิดความเข้มแข็งนั้น จึงได้เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานส่งเสริม SMEs ระยะเร่งด่วนปี 2558 ซึ่งมุ่งเน้นงานที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการบริหารจัดการ งานส่งเสริม SMEs ให้มีประสิทธิภาพ มีเอกภาพ ดำเนินงานสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน และมีการสร้างกลไก หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสนับสนุนให้ SMEs สามารถเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตได้ตามวงจรธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อมามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ได้มอบหมายให้ สสว. เป็นเจ้าภาพหลักฯ ตามที่ กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอเรื่อง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs โดยส่วนของ สสว. รับผิดชอบ ในเรื่องของการสร้างผู้ประกอบการใหม่นั้น ได้อนุมัติให้สร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Start up) ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม อีกทั้งยังกำหนดให้ สสว. ดำเนินการสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 10,000 ราย ในระยะเวลาปี 2559-2561 โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนให้หน่วยงานของภาครัฐสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรไทย เน้นการผลิตทางการเกษตรรูปแบบใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร โดยต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการ และเทคโนโลยี (Smart Farming) และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) การเข้าถึงข้อมูลด้านการตลาด (Market Intelligence) และการเข้าถึงมาตรการส่งเสริมต่างๆ ของภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญของการผลักดันให้ SMEs และวิสาหกิจชุมชนเติบโตและเข้มแข็งอีกด้วย          

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการเกษตร จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ Start up เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบ SMEs ทั้ง 4 ภาคข้างต้น ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยการดำเนินการเชื่อมโยงหน่วยงานส่งเสริมผู้ประกอบการในการให้องค์ความรู้ ให้คำปรึกษา เกี่ยวกับการนำงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ โดยใช้กลยุทธ์การตลาดนำการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามความเหมาะสม อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้ประกอบการต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อบ่มเพาะเกษตรกร Smart Farmer วิสาหกิจชุมชน/ เครือข่ายวิสาหกิจ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและบุคคลทั่วไป ที่ต้องการยกระดับเป็น SMEs ภาคการเกษตร
  2. เพื่อบ่มเพาะ SMEs ทั่วไป ประชาชนที่สนใจจะประกอบธุรกิจ หรือต้องการเริ่มประกอบธุรกิจใหม่
  3. เพื่อสร้างต้นแบบธุรกิจที่มีศักยภาพให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับจังหวัด
  4. เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่เข้ารับการบ่มเพาะ ในการช่วยเหลือและดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจร่วมกัน ตลอดจนเชื่อมโยงกับวิสาหกิจขนาดใหญ่

กลุ่มเป้าหมายที่ได้ประโยชน์

  1. เกษตรกร Smart Farmer วิสาหกิจชุมชน/เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และบุคคลทั่วไป ที่ต้องการยกระดับเป็น SMEs ภาคการเกษตร
  2. ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการเกษตร การท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือเกษตรแปรรูป
  3. ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจใด ๆ
  4. ผู้ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่เกิน 3 ปี
    • มีสัญชาติไทยหรือมีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทยร้อยละ 51 ขึ้นไป
    • ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือระหว่างถูกดำเนินคดี
    • กิจการไม่เป็นกิจการในเครือของบริษัทแม่
    • เป็นธุรกิจที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม

กิจกรรมของโครงการ

  1. เปิดรับสมัครผู้ประกอบการร่วมโครงการ
    เปิดรับสมัคร เกษตรกร Smart Farmer วิสาหกิจชุมชน/เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และบุคคลทั่วไป ที่ต้องการยกระดับเป็น SMEs ภาคการเกษตร การท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือเกษตรแปรรูป
  2. กิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารจัดการ
    ผู้ประกอบการร่วมโครงการรับการอบรมด้านการตลาด การเงิน บัญชี การผลิต การบริหารจัดการ และการเตรียมความพร้อมการขอกู้เงิน ภาษี           
  3. กิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนธุรกิจ
    ผู้ประกอบการจะได้รับการแนะนำจัดทำแผนธุรกิจจนเสร็จสิ้น
  4. กิจกรรมการสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ
    ผู้ประกอบการจะได้รับการปรึกษาพัฒนาศักยภาพอย่างน้อย 1 เรื่อง อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่ม/การสร้างมาตรฐานสินค้า/นวัตกรรม/การพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยี/การพัฒนาผลิตภัณฑ์/การบริการ/การวางแผนการตลาด หรือการสร้างแบรนด์จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าวินิจฉัยวิเคราะห์ปัญหาและวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาของกิจการ
  5. กิจกรรมการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ
    ผู้ประกอบการจะได้รับการเชื่อมโยง ประสานกับสถาบันการเงินและหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพื่อพิจารณาแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ และเข้ารับการส่งเสริมด้านการตลาด

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.startuptracking.com/index.php